ที่ห้องประชุมนพรัตน์ฯ ชั้น 6 อาคาร ผศ.นพรัตน์ ผลาพิบูลย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.)ภาค2 ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดการประชุมหารือความร่วมมือเกี่ยวกับโครงการวิจัย เรื่อง ประสิทธิผลของโปรแกรมกลุ่มบำบัดแบบการยอมรับและสร้างพันธะสัญญาต่อเยาวชนที่ใช้สารเสพติด โดยมี ผศ.ดร.พรชัย จูลเมตต์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา และนางสาวพรทิพย์ แจ่มพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 2 พร้อมคณะผู้บริหาร, หัวหน้าโครงการวิจัย,ผู้ร่วมโครงการวิจัย ร่วมประชุมในครั้งนี้ สำหรับโปรแกรมการบำบัดแบบการยอมรับและสร้างพันธะสัญญา (Acceptance Commitment Therapy หรือ ACT) เป็นโครงการวิจัยที่ริเริ่มโดย ผศ.ดร.จิณห์จุฑา ชัยเสนา ดาลลาส เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากทางสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นการผสมผสานระหว่างกระบวนการฝึกสติ การยอมรับ การสร้างพันธะสัญญา และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ที่ไม่ใช่แค่ลดอาการความผิดปกติ แต่ช่วยให้ผู้รับการบำบัดมีชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมายมากขึ้น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ เปลี่ยนไปจากวิธีการดั้งเดิมที่พยายามปิดกั้นช่องทาง ยับยั้งการเพิ่มจำนวน หยุดการแพร่กระจายหรือการขยายเครือข่ายของยาเสพติด ซึ่งจัดเป็นความพยายามจัดการกับปัจจัยภายนอกของกลุ่มเสี่ยง แตกต่างจากการทำงานครั้งนี้ ที่เป็นการแก้ปัญหาจากกระบวนการภายในของผู้ติดยาเสพติดหรือกลุ่มเสี่ยงโดยตรง โดยเป็นกระบวนการทำงานบนฐานงานวิจัย “ประสิทธิผลของโปรแกรมกลุ่มบำบัดแบบการยอมรับและสร้างพันธะสัญญาต่อเยาวชนที่ใช้สารเสพติด” ด้าน ผศ.ดร.จิณห์จุฑา ชัยเสนา ดาลลาส เผยว่า โปรแกรมการบำบัดแบบการยอมรับและสร้างพันธะสัญญา หรือโปรแกรม ACT นี้ ที่มีการลงมือทำผ่านกิจกรรมต่างๆ 8 กิจกรรมใน 4 สัปดาห์ โดยกิจกรรมต่างๆ เป็นการสร้างความยืดหยุ่นในชีวิตและความตั้งใจในการเลิกสารเสพติด และเป็นโปรแกรมที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางใจ บนแนวคิดการอยู่กับปัจจุบันขณะ การเปิดใจยอมรับ การปลดปล่อยความคิดยึดติด รับรู้ถึงตัวตนที่สังเกตเห็นหรือรู้ทันการเปลี่ยนแปลง รับรู้คุณค่าในตัวเองและใช้คุณค่านำการกระทำสู่เป้าหมายชีวิตแบบมีพันธะสัญญากับตนเอง
อีกทั้งโปรแกรม ACT เป็นทางเลือกในการบำบัดรักษาที่ช่วยให้เกิดการสร้างวิธีคิดวิธีมองชีวิตแบบใหม่ให้กับเยาวชน เพื่อให้เกิดการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งในจิตใจ และเพิ่มความพร้อมในการออกไปใช้ชีวิตในสังคม จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า เยาวชนที่เข้ารับการบำบัดสารเสพติดในโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง เขตพื้นที่ภาคตะวันออกกลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรม ACT มีคะแนนเฉลี่ยของความตั้งใจในการเลิกสารเสพติดและความยืดหยุ่นในชีวิตสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 โดยเยาวชนฯ กลุ่มทดลอง ในระยะหลังการทดลองเสร็จสิ้นทันทีมีคะแนนเฉลี่ยความตั้งใจในการเลิกสารเสพติดและความยืดหยุ่นในชีวิตสูงกว่าก่อนเข้าร่วมการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ทั้งนี้ จากการประชุมหารือ ทั้งสองสถาบันยังเห็นชอบตรงกันในการพัฒนาและจัดตั้งศูนย์วิชาการด้านยาเสพติดในภาคตะวันออก เพื่อบูรณาการการทำงานให้เกิดการเชื่อมต่อด้านวิชาการกับการปฏิบัติการจริงในพื้นที่ทั้งนี้จากการประชุมหารือ ทั้งสองสถาบันยังเห็นชอบตรงกันในการพัฒนาและจัดตั้งศูนย์วิชาการด้านยาเสพติดในภาคตะวันออก เพื่อบูรณาการการทำงานให้เกิดการเชื่อมต่อด้านวิชาการกับการปฏิบัติการจริงในพื้นที่
📢 เผยแพร่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564