สสส. สานพลัง จ.ชลบุรี เครือข่ายสื่อท้องถิ่น และมูลนิธิไทยโรดส์  จัดเวทีรณรงค์  “คนชล...สวมหมวกนิรภัย ปีใหม่ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ” เพิ่มมาตรการชุมชนเฝ้าระวัง ท้องถิ่นเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดเจ็บ ลดตายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567

สสส.สานพลัง จ.ชลบุรี เครือข่ายสื่อท้องถิ่นและมูลนิธิไทยโรดส์  จัดเวทีรณรงค์“คนชล...สวมหมวกนิรภัย ปีใหม่ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ” เพิ่มมาตรการชุมชนเฝ้าระวัง ท้องถิ่นเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดเจ็บลดตายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567

ที่โรงแรมรัตนชล อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี เครือข่ายสื่อสุขภาวะลดปัจจัยเสี่ยง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ จังหวัดชลบุรี และเครือข่ายการขับเคลื่อนงานความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่เมืองชลบุรี จัดเวทีรณรงค์“คนชล...สวมหมวกนิรภัย ปีใหม่ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ” ปลุกกระแสความรับผิดชอบต่อสังคม ร่วมใจชุมชนขับขี่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2567 

นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีกล่าวถึงแผนปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่2567ว่า “ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปี ประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆจึงมีความเสี่ยงต่อการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น จ.ชลบุรี จึงได้กำหนดมาตรการในการดูแลความปลอดภัยทางถนนให้แก่ประชาชนเป็นพิเศษในช่วงการณณรงค์ 7 วันอันตราย โดยแบ่งออกเป็น3ช่วง คือช่วงก่อนควบคุมเข้มข้น วันที่ 22-28 ธันวาคม 2566 ช่วงรณรงค์เข้มข้น วันที่ 29 ธันวาคม 2566 - 4 มกราคม 2567 และช่วงหลังการรณรงค์ วันที่ 5 - 11 มกราคม 2567 ภายใต้มาตรการหลัก 5 ด้าน คือด้านบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน,การลดปัจจัยเสี่ยงของถนนและสภาพแวดล้อม,การลดปัจจัยเสี่ยงของยานพาหนะ,ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัยและด้านการตอบสนองหลังการเกิดอุบัติเหตุ”

      นอกจากนี้ข้อมูลจากมูลนิธิไทยโรดส์และเครือข่าย Road Safety Watch พบผู้ใช้รถจักรยานยนต์ของคนไทยมีการสวมหมวกนิรภัยอยู่เพียงร้อยละ 45 โดยในพื้นที่ จ.ชลบุรี มีผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัยอยู่ร้อยละ 56 และผู้โดยสารสวมหมวกนิรภัยอยู่ร้อยละ 23 เท่านั้น ดังนั้นในทศวรรษที่สองแห่งความปลอดภัยทางถนน 2564-2573 เครือข่ายความปลอดภัยทางถนนในระดับท้องถิ่นจังหวัดและประเทศต้องเร่งบูรณาการขับเคลื่อนให้มีมาตรการที่เข้มงวดและจริงจังในการรณรงค์สวมหมวกนิรภัยให้เป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นของการขับขี่รถจักรยานยนต์เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดพร้อมรณรงค์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนหรือนักขับมือใหม่ให้เป็น‘นักขับรถที่มีคุณภาพ’มีทักษะการขับขี่ปลอดภัยและเคารพกฎกติกาการขับขี่ก็จะเป็นการช่วยสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนได้อีกทางหนึ่งด้วย